2. โครงสร้างส่วนท้าย (Hindquarters) ประกอบไปด้วย
2.1 ขาหลัง (Thigh) ส่วนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนปราบเซียนก็ได้ ยาวไปก็ไม่ดี สั้นไปก็ไม่ดี ความพอดีเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริงๆ พบได้บ่อยมากที่ลูกสุนัขตอนเล็กๆขาหลังดูดีมาก พอโตขึ้นเป็นคนละเรื่องเลย ...อย่างไรก็ตาม หากจะประกวดสุนัขในระบบ FCI ก็ต้องยึดตามหลักมาตรฐานสากลโดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดในมาตรฐานพันธุ์ที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว เรามาลองติดตามวิธีคัดเลือกกันนะครับ
(ย้ำอีกครั้งบทความนี้เขียนจากประสบการณ์จริง นำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นแนวทาง ผู้สนใจโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมนะครับ)
** ขาหลังของสุนัขประกอบไปด้วย
2.1.1 กระดูกเชิงกราน (pelvic) เป็นส่วนที่ทำให้เกิดส่วนลาดเอียงของบั้นท้าย
2.1.2 ขาหลังท่อนบน (Upper thigh)
2.1.3 ขาหลังท่อนล่าง (Lower thigh)
สองส่วนนี้จะทำมุมที่เรียกว่ามุมเข่า (stifles)
2.1.4 ข้อเท้าหลัง (hock) เปรียบได้กับส้นเท้าของมนุษย์ เกิดจากการทำมุมระหว่างกระดูกขาหลังท่อนล่าง กับ กระดูกฝ่าเท้า มุมข้อเท้าหลังที่เหมาะสมโดยทั่วไปจะเป็นมุมฉากรวมทั้งสุนัขไทยหลังอานด้วย
2.1.5 ฝ่าเท้าหลัง (rear pastern) เปรียบได้กับฝ่าเท้าของมนุษย์ ตามภาพจะเห็นได้ว่าสุนัขไม่ได้ยืนอยู่บนฝ่าเท้าเหมือนมนุษย์ แต่จะยืนอยู่บนนิ้วเท้าและมีอุ้งเท้า (pad) ช่วยรองรับ
** ลักษณะของโครงสร้างส่วนท้ายที่ดีที่สุดและสมดุลที่สุด ต้องสามารถถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างส่วนท้ายจากจุดเชื่อมต่อของกระดูกเชิงกรานดิ่งตรงลงมาตกอยู่ที่ด้านหน้าของนิ้วเท้าหลังของสุนัขได้อย่างพอดีซึ่งเป็นจุดศูนย์ถ่วงของโครงสร้างส่วนท้าย (ดูภาพประกอบ..ตามเส้นสีฟ้า)
Wip Tkk โครงสร้างส่วนท้ายในขณะยังเป็นลูกสุนัขจะไม่เน้นว่าต้องมีมุมต่างๆกี่องศาจึงจะดีที่สุด เพราะมุมต่างๆขณะเป็นลูกสุนัขกับตอนโตเต็มวัยของสุนัขไทยหลังอานนั้น มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และหาตัวสุนัขที่จะสามารถรักษาลักษณะของขาหลังเอาไว้ได้เหมือนกับตอนยังเป็นลูกสุนัขยากมาก เอาเป็นว่า มุมส่วนท้ายพอโตขึ้นควรสัมพันธ์กับมุมส่วนหน้าจะเป็นการดีที่สุด (ดูภาพประกอบ)
 |
Wip Tkk ** ปัญหาคือโครงสร้างส่วนท้ายของสุนัขไทยหลังอานเมื่อโตขึ้นจะมีการแปรเปลี่ยนจากตอนเป็นลูกสุนัขค่อนข้างมากซึ่งต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะกระดูกขาหลังท่อนล่าง (lower thigh)
พบว่า กระดูกขาหลังท่อนล่างมีอัตราการยืดตัวน้อยกว่ากระดูกขาหลังท่อนบนค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในขณะที่กระดูกขาหลังท่อนบนเจริญเติบโตตามวัยคือยาวขึ้นตามการยืดตัวสูงขึ้นของสุนัข แต่กระดูกขาหลังท่อนล่างกลับไม่ยืดยาวในสัดส่วนที่สัมพันธ์กัน คือ ยืดน้อยหรือช้ากว่ากระดูกขาหลังท่อนบน จึงทำให้มุมเข่าเริ่มชันขึ้นๆ มุมข้อเท้าเริ่มค่อยๆหายไป จนสุนัขไทยหลังอานบางตัวโตขึ้นขาหลังตึง บั้นท้ายเริ่มโด่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสุนัขจะวิ่งด้วยขาหลังที่ขาดพลังขับเคลื่อนที่ดี คือ จะวิ่งไปในลักษณะลากขามากกว่าการถีบขาหลัง นี่คือปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของโครงสร้างสุนัขไทยหลังอานที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ดูภาพประกอบ)
 |
Wip Tkk ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นักพัฒนาพันธุ์จึงพยายามหาวิธีที่จะปรับปรุงส่วนนี้ให้ดีขึ้น เพื่อให้ลูกสุนัขโตขึ้นมีมุมส่วนท้ายที่สวยงามเหมาะกับการประกวดเพื่อก้าวไปสู่เวทีระดับสากลและระดับโลก โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งข้อกำหนดในมาตรฐานพันธุ์ หลายคนทำได้ดีแล้วในขณะที่บางคนยังต้องพยายามกันต่อไป.... (ขอเป็นกำลังใจให้นักพัฒนาพันธุ์ทุกท่านมา ณ ที่นี้นะครับ)
ในการคัดเลือกลูกสุนัขไทยหลังอานเพื่อการประกวดในปัจจุบันจึงนิยมเลือกตัวที่มีกระดูกขาหลังยาวมากกว่าสั้นไว้ก่อน เพราะโอกาสที่ลูกสุนัขโตขึ้นจะมีมุมขาหลังที่พอดีมีมากกว่า ปัจจุบันจะพบว่าลูกสุนัขไทยหลังอานในสนามประกวดรุ่น Baby หลายๆตัวมีขาหลังที่ยาวกว่าในอดีตมาก แต่พอโตขึ้นไปในรุ่น Puppy และ Junior ส่วนของขาหลังเริ่มจะหดสั้นลง
 |
Wip Tkk ในการเลือกลูกสุนัขที่มีขาหลังยาวมากๆมิใช่ว่าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียว ในทางตรงข้ามก็อาจจะมีข้อเสีย คือ ให้ระวังไปเลือกเอาลูกสุนัขที่มีข้อบกพร่องด้านกระดูกและข้อต่อต่างๆ ที่ผิดรูปมากเกินไป ร่างกายอาจไม่สามารถพัฒนาไปในทางที่ดีก็ได้
สำหรับมุมข้อเท้าหรือส้นเท้านั้น ระหว่างเป็นลูกสุนัขก็ไม่ควรมีมากเกินไป(ไม่ควรเกิน 90 องศา) ถ้ามุมข้อเท้ามากเกินไปจะสังเกตได้ว่าลูกสุนัขจะยืนย่อขาหลัง ทำให้ท้ายต่ำอยู่ตลอดเวลา ส่วนนี้จะติดตัวสุนัขไปจนโต และมักจะไม่ค่อยมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เรียกว่า ข้อเท้าอ่อน หรือ sickle hocks บางทีก็เรียกว่า over angulation โดยมากจะเกิดกับสุนัขที่มีกระดูกขาหลังเล็กและยาวเกินไป ซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่ง แล้วยังส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวอีกด้วย เพราะขาหลังจะอ่อนปวกเปียก วิ่งแกว่งขาหลังไปมา มุมข้อเท้าที่สวยงามควรเป็นมุมฉากและมีกระดูกขา
 |
Wip Tkk ** วิธีการคัดเลือกลูกสุนัขให้ได้ขาหลังที่สวยงาม แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็พอจะมีวิธี ที่จะแนะนำดังต่อไปนี้
- ให้อุ้มลูกสุนัขขึ้นยืนบนโต๊ะ เอาขนมล่อลูกสุนัขให้เงยหน้าขึ้น จับขาหน้าให้ยืนเข้าที่และมั่นคงก่อน แล้วค่อยมาจับแต่งขาหลังลูกสุนัข ไม่ควรยืดขาหลังลูกสุนัขออกไปมากจนเกินไป เอาแค่ข้อเท้าหลังใกล้เคียงมุมฉากกับพื้นก็พอแล้ว โดยสังเกตว่าลูกสุนัขยืนได้โดยไม่มีอาการเกร็งหรือขัดขืนจนต้องดึงขาหลังกลับเป็นใช้ได้ ตัวที่สามารถจับขาหลังยืดหดไปมาได้โดยลูกสุนัขไม่มีอาการขัดขืน เป็นสัญญาณที่ดี และเป็นตัวที่สมควรให้ความสนใจมากที่สุด
เมื่อลูกสุนัขยืนสี่ขาได้ปกติอย่างสบายตัวที่สุดแล้ว ก็ให้เริ่มพิจารณาได้ โดยมองจากด้านข้างก่อน
(1) ในกรณีที่ลูกสุนัขมีขาหลังที่ยาวเกินจุดศูนย์ถ่วงของโครงสร้างส่วนท้าย(ตามภาพ A)
- ให้เล็งตัวที่มีกระดูกขาหลังใหญ่และแข็งแรงไว้เป็นอันดับแรกก่อน ส่วนตัวที่กระดูกขาหลังเล็กเอาไว้เป็นอันดับรอง
- ให้ใช้มือสัมผัสบริเวณหัวเข่าและข้อเท้าลูกสุนัข ควรเลือกตัวที่สัมผัสได้ถึงหัวเข่ามีความโค้งชัดเจนและข้อเท้ามีมุมหักที่ชัดเจน เพราะโตขึ้นมีโอกาสรักษามุมเข่าและมุมข้อเท้าได้ดีกว่าตัวที่มุมเข่าราบเรียบและมุมข้อเท้าหักมุมไม่ค่อยคมชัด
 |
Wip Tkk (2) ในกรณีที่ลูกสุนัขมีขาหลังที่ไม่ยาวเกินจุดศูนย์ถ่วงของโครงสร้างส่วนท้ายหรือยาวพอดี
- หากลูกสุนัขมีขาหลังที่สั้นตั้งแต่เล็ก ไม่สามารถจับข้อเท้าหลังให้ตั้งฉากกับพื้นได้เลย จะสังเกตได้ถึงความตึงของท่อนขาหลังตั้งแต่เล็ก ให้ผ่านตัวนี้ไป
- หากลูกสุนัขมีกระดูกขาหลังทั้งสองท่อนใหญ่แข็งแรงและยาวเท่ากัน สัมผัสได้ถึงมุมเข่าโค้งได้รูป และมีข้อเท้าหลังคมชัดและตั้งฉากกับพื้นอย่างสวยงามตั้งแต่เล็ก โดยรวมมองดูแล้วมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างส่วนหน้าได้เป็นอย่างดี เรียกว่ายืนบนโต๊ะได้อย่างสมดุล ไม่ต้องปรับแต่งมากลูกสุนัขก็สามารถยืนเองได้แล้ว ไม่มีอาการเกร็งหรือขัดขืน (ตามภาพ B)
** ตัวนี้ควรพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยศึกษาจากลักษณะขาหลังของพ่อแม่พันธุ์และประวัติการให้ลูกประกอบการตัดสินใจด้วย
 |
Wip Tkk (3) ขั้นตอนต่อมาให้ลูกสุนัขยืนบนโต๊ะในท่าปกติตามธรรมชาติ พิจารณาจาก
ด้านหลัง
- ลักษณะของขาหลังที่ดีที่สุด ต้องขนานกันตั้งแต่สะโพกลงมาถึงข้อเท้าและฝ่าเท้า (ตามภาพ A)
- หากข้อเท้าหุบเข้าหากัน ปลายเท้าจะแบะออกข้าง เรียกว่า ขาวัว หรือ cowed hock (ตามภาพ B)
- หากข้อเท้ากางออกข้าง ปลายเท้าจะบิดเข้าด้านใน เรียกว่าขาโก่ง หรือ bowed hock (ตามภาพ C)
** ทั้งสองกรณี (B และ C) ถือเป็นข้อบกพร่อง ถ้าไม่จำเป็น ก็ให้หลีกเลี่ยงไม่เลือกเอามาประกวด เว้นแต่ลูกสุนัขมีส่วนอื่นดีมากหลายส่วนและยังเสียดายอยู่ หากเลือกไว้ก็ต้องไปรอลุ้นตอนลูกสุนัขโตขึ้นว่าจะมีพัฒนาการของขาหลังดีขึ้นหรือไม่ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยนะครับ
 |
Wip Tkk …จบเรื่องส่วนแขนและขาของสุนัขไทยหลังอานแล้วครับ ยาวหน่อยเพราะเป็นเรื่องสำคัญ เวลาบรรยายเป็นตัวหนังสือดูยืดยาวมาก แต่ถ้าเข้าใจแล้วในทางปฏิบัติจะผ่านขั้นตอนต่างๆได้อย่างรวดเร็วมากครับ สู้ ๆ ครับ..
“ สุนัขที่จะชนะการประกวดไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน 100 % ตามมาตรฐานพันธุ์หรือตามที่กล่าวไว้ในบทความนี้ ขอเพียงให้มีส่วนดีมากที่สุด และไม่มีข้อบกพร่องร้ายแรง ก็มีโอกาสไปถึงดวงดาวได้แล้วครับ”
การคัดเลือกลูกสุนัขไทยหลังอานเพื่อการประกวด
ตอนที่ 6 ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนไหว (Movement)
การประกวดสุนัขสวยงามทุกสายพันธุ์ในระบบสากลนั้น การเคลื่อนไหวถือเป็นหัวใจสำคัญของการประกวดก็ว่าได้ วันนี้จะนำเสนอเทคนิคของการคัดเลือกลูกสุนัขไทยหลังอานให้ได้ตัวที่มีการเคลื่อนไหวถูกต้องตามมาตรฐานสากล เทคนิคนี้ไม่เฉพาะเพื่อกลุ่มนักนิยมการประกวดสุนัขเท่านั้น กลุ่มคนที่เลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อนเล่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่หากสนใจก็สามารถนำเอาไปเป็นแนวทางในการคัดเลือกลูกสุนัขได้เช่นกัน
...ลองมาติดตามกันนะครับ...
สุนัขที่ยืนหล่อๆ เท่ห์ๆ นิ่งๆนั้น ยังไม่อาจฟันธงลงไปว่าเป็นสุนัขฟอร์มประกวดแบบสากลนะครับ เพราะยังต้องแสดงการเคลื่อนไหวให้กรรมการตัดสินพิจารณาอย่างละเอียดก่อนว่า ที่เห็นยืนหล่อๆ เท่ห์ๆ นั้นใช่ของจริงหรือไม่ นั่นคือยังมีองค์ประกอบที่อยู่ภายในที่มองไม่เห็น ได้แก่ มุมต่างๆของโครงสร้างกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็นต่างๆว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด สุนัขบางตัวที่แฮนด์เล่อร์จับโพสสวยมาก แต่พอให้วิ่งเท่านั้นก็หมดสภาพความเป็นสุนัขฟอร์มประกวดไปเลยก็มี นี่ยังไม่รวมถึงอารมณ์ร่วมในการแสดงออกตอนวิ่งโชว์ (expression) ที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไปอีกนะครับ
 |
Wip Tkk ** การเคลื่อนไหว (Movement) ในความหมายของการประกวดสุนัข หมายถึงการเดินและการวิ่งของสุนัขซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรรมการตัดสิน สุนัขแต่ละสายพันธุ์ต่างก็มีบุคลิกลักษณะในการเคลื่อนไหวเฉพาะสายพันธุ์นั้นๆ ผู้เข้าร่วมประกวดสุนัขต้องเรียนรู้ให้เข้าใจก่อน
สำหรับสุนัขไทยหลังอานนั้นเป็นสุนัขขนาดกลาง คือ ไม่ใหญ่ไปและไม่เล็กไป ไม่สูงหรือเตี้ย ขนาดกำลังดี มีสัดส่วนของโครงสร้างที่สมดุล และใกล้เคียงมาตรฐานสากลมาก การเคลื่อนไหวนอกจากมีพลังแล้ว ยังดูสวยและสง่างามมากอีกด้วย หากไปอ่านมาตรฐานพันธุ์ในหัวข้อเรื่องการเคลื่อนไหวก็จะพบว่าบรรยายไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่ต่างอะไรกับสุดยอดสุนัขต้นแบบในอุดมคติที่หลายคนชื่นชอบ
** เทคนิคการคัดเลือกลูกสุนัขให้ได้ตัวที่มีการเคลื่อนไหวถูกต้อง มีดังต่อไปนี้...(ลูกสุนัขควรมีอายุตั้งแต่ 45 วันขึ้นไป ยิ่งโตยิ่งมองเห็นชัด)
1. ขาหน้า (Forelegs) ปล่อยให้ลูกสุนัขวิ่งเล่นห่างออกไปไกลพอสมควร (5-8 เมตร) แล้วตบมือเรียก จะใช้ขนมหรือของเล่นล่อก็ได้ เพื่อให้ลูกสุนัขวิ่งมาหา ในขณะเดียวกันเราต้องนั่งยองๆเพ่งมองไปที่ขาคู่หน้าของลูกสุนัข ขาหน้าลูกสุนัขขณะยังเล็กๆอยู่ยังไม่เจริญเติบโตหรือยืดตัวเต็มที่ แต่ก็ควรพิจารณาตัวที่วิ่งเตะขาคู่หน้าตรงและขนานกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 |
Wip Tkk ควรพิจารณาตัวที่วิ่งเตะขาคู่หน้าตรงและขนานกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ตามภาพ A) ที่สำคัญข้อเท้าไม่ควรสะบัดออกข้าง หรือสะบัดเข้าด้านในของลำตัว(ตามภาพ B และ C) ข้อศอกลูกสุนัขไม่ควรกางออกหรือบีบเข้าใต้ลำตัว (Elbow in-out) มากจนเกินไป
Wip Tkk 2. ขาหลัง (Hind legs) นั่งยองๆจับลูกสุนัขไว้ก่อน แล้วให้เพื่อนอีกคนยืนห่างออกไปพอสมควรประมาณสัก 5-8 เมตร หลังจากนั้นให้เพื่อนตบมือเรียกลูกสุนัขให้วิ่งไปหา ขณะลูกสุนัขวิ่งตรงออกไปให้เพ่งมองไปที่ขาคู่หลังลูกสุนัข
พิจารณาเลือกตัวที่ขาคู่หลังตั้งแต่สะโพก ข้อเข่า และข้อเท้าขนานกันมากที่สุดตามภาพ A ข้อเท้าไม่บิดเข้าหรือ cowed hock ตามภาพ B หรือบิดโก่งออกด้านข้าง หรือ bowed hock ตามภาพ C....(ดูภาพประกอบอีกครั้ง)
** ในสนามประกวด กรรมการตัดสินจะพิจารณาขาหน้าและขาหลังสุนัขเมื่อวิ่งมาหยุดอยู่ตรงหน้า โดยปราศจากการจับแต่งใดๆ (Free stack)
Wip Tkk นอกจากนี้แม้ว่าข้อเท้าหลังจะขนานกันดีแล้ว แต่ก็ไม่ควรชิดกันมากจนเกินไป (close behind) ด้วย
โดยรวมแล้วขาหลังต้องเคลื่อนไหวตรงไปในแนวเดียวกับขาหน้า ไม่วิ่งเฉียงออกด้านข้างหรือวิ่งเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดจากขาที่ยาวไม่เท่ากันหรือถ้าร้ายแรงมากก็อาจจะเกิดจากปัญหาโรคข้อสะโพก (hip dysplasia) ที่จะแสดงออกมาในอนาคตก็ได้
Wip Tkk 3. เส้นหลัง (Top line) และการวิ่งด้านข้าง (side gait) เป็นการพิจารณาการวิ่งของลูกสุนัขจากด้านข้าง โดยให้เพื่อนสองคน (นาย A และนาย B) ยืนห่างกันประมาณ 5-8 เมตร ให้เรา(นาย C) นั่งยองๆอยู่ในจุดศูนย์กลางของเส้นสามเหลี่ยม ให้นาย A และนาย B สลับกันปล่อยลูกสุนัขวิ่งสลับกันไปมาหลายๆรอบ โดยมีขนมหรือของเล่นล่อลูกสุนัข (ดูภาพประกอบ)
 |
Wip Tkk 3.1 ให้พิจารณาเลือกลูกสุนัขตัวที่รักษาระดับของเส้นหลังได้มั่นคงที่สุด (ใกล้เคียงเส้นตรง) และดูแข็งแรงที่สุด อนุโลมให้เส้นหลังลูกสุนัขอ่อนไหวได้เพียงเล็กน้อยเพราะกระดูกสันหลังยังพัฒนาได้อีก
3.2 ไม่ควรเลือกตัวที่เส้นหลังเคลื่อนไหวยวบยาบขึ้นลง จนดูไม่เป็นเส้นเดียวกัน มองเห็นชัดเจนตั้งแต่เป็นลูกสุนัข เนื่องจากข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนซี่โครง (Thoracic) กับ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar) มีความหลวม เมื่อลูกสุนัขโตขึ้นมีโอกาสจะวิ่งแกว่งเส้นหลังขึ้นลงเป็นลูกคลื่น ซึ่งเซียนรุ่นเก๋าเรียกว่า “หลังสองตอน” (ดูภาพประกอบ)
** ภาพประกอบเป็นสุนัขโต กรณีเป็นลูกสุนัขจะสังเกตข้อบกพร่องนี้ได้ยากมาก แต่ก็นำเสนอมาเพื่อให้เป็นความรู้อย่างหนึ่ง และข้อบกพร่องส่วนนี้จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อลูกสุนัขกำลังวิ่งเท่านั้น **
 |
Wip Tkk 3.3 ไม่ควรเลือกตัวที่เส้นหลังทั้งระบบอ่อนหรือหลังแอ่น (sway back) หรือเส้นหลังโก่งขึ้นด้านบน (roach back) ลูกสุนัขบางตัวมองเห็นข้อบกพร่องนี้ตั้งแต่ยืนบนโต๊ะ
3.4 ไม่ควรเลือกตัวที่วิ่งหน้าทิ่มต่ำ ท้ายโด่งสูง ตลอดเวลา
3.5 ให้เลือกตัวที่ก้าวขาหน้า (reach) ออกด้านหน้าได้มาก ในขณะที่ขาหลังถีบ (drive)ไปด้านหลังได้มากไว้ก่อน และปลายเท้าหน้าและปลายเท้าหลังควรสอดประสานกันใต้กึ่งกลางลำตัวได้พอดิบพอดี ปลายเท้าที่ห่างมากมักจะเกิดกับลูกสุนัขที่ลำตัวยาวเกินไป และปลายเท้าที่เกยกันมากมักจะเกิดกับลูกสุนัขที่ตัวสั้นเกินไป แต่ระหว่างลำตัวสั้นกับลำตัวยาว ตัวสั้นจะได้เปรียบกว่าตามที่ได้อธิบายไว้แล้วในบทก่อน (อาจใช้วิธีปล่อยให้วิ่งเปรียบเทียบกันระหว่างลูกสุนัขสองตัวที่เล็งเอาไว้แล้ว)
 |
Wip Tkk 3.6 มองจากด้านข้าง ลูกสุนัขไม่ควรวิ่งยกขาหน้าสูงให้เห็นตั้งแต่เล็ก เพราะพอโตขึ้นมีโอกาสที่มุมไหล่จะกางมากเกินไป หรือไม่ก็ upper arms สั้นกว่า shoulder blade มาก ทำให้เวลาก้าวขาหน้า จะเกิดจังหวะสะดุด สุนัขจะยกขาหน้าค้างไว้นานกว่าปกติ คล้ายกับการวิ่งเหยาะๆของม้า (hackney) ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการวิ่งที่ถูกต้องของสุนัขไทยหลังอาน (ดูภาพประกอบ)
 |
Wip Tkk ** การคัดเลือกลูกสุนัขในบทที่ว่าด้วยการเคลื่อนไหวนี้เป็นการคัดเลือกโดยลูกสุนัขยังไม่ใส่สายจูง และเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่หัดประกวดหากลูกสุนัขเอาแต่วิ่งเล่นซุกซน
ในกรณีลูกสุนัขอายุ 2 เดือนขึ้นไป สามารถใส่สายจูงได้แล้วจะดูง่ายกว่ามาก สามารถไปคนเดียวก็เลือกได้โดยให้เจ้าของลูกสุนัขจูงลูกสุนัขเดินช้าๆตามขั้นตอนที่กล่าวมา สามารถใช้ขนมล่อลูกสุนัขให้เชิดหน้าขึ้นขณะวิ่ง
อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจในตัวเอง ก็ควรชวนเพื่อนที่มีประสบการณ์ไปช่วยคัดเลือกลูกสุนัขด้วยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรกระทำ และอย่าลืมพิจารณาลักษณะการวิ่งของพ่อแม่พันธุ์ประกอบการตัดสินใจด้วยนะครับ เพราะการวิ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้พอๆกับความสมดุลของโครงสร้างครับ
** ท้ายนี้ขอนำภาพการเคลื่อนไหวของลูกสุนัขตัวหนึ่งอายุ 3 เดือนมาให้ชมเป็นตัวอย่าง ก่อนที่จะได้รับรางวัล Best Baby In Show (All Breed) เนื่องจากชนะใจกรรมการที่การเคลื่อนไหวนี่แหละครับ **
การคัดเลือกลูกสุนัขไทยหลังอานเพื่อการประกวด (ตอนสุดท้าย)
ตอนที่ 7 ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ (Behaviour & Temperament)
สุนัขไทยหลังอานเป็นสุนัขที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ลูกสุนัขจะมีจิตใจและความคิดความอ่านโตเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าสุนัขอีกหลายๆสายพันธุ์ อายุตั้งแต่ 1 เดือนเราก็จะเริ่มได้เห็นการแสดงออกต่างๆ ของลูกสุนัขแล้ว เช่น การขึ้นกดขี่ตัวอื่น การประลองกำลังกันจากเบาๆไปจนถึงขั้นรุนแรงเพื่อวัดกันว่าใครใหญ่และควรเป็นจ่าฝูง แล้วยังมีพฤติกรรมเห่าหอนเลียนแบบตามผู้ใหญ่(สุนัขโต) ฯลฯ
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวแต่อย่างใด แต่เป็นพฤติกรรมที่เป็นพื้นฐานของสายพันธุ์ ต่อให้เป็นสุนัขประกวดที่เจนสนามมาอย่างโชกโชน ถ้าปล่อยให้เล่นกันเป็นฝูงแบบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้กลางสนามประกวด... รับรองได้เรื่อง
 |
Wip Tkk สรุปคือ สุนัขไทยหลังอานโดยพื้นฐานแล้วเป็นสุนัขนักล่า ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ ในบทบัญญัติของมาตรฐานพันธุ์ฉบับ FCI จึงมีการระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสุนัขประเภท Royal, hunting
ไม่ใช่สุนัขประเภท Friendly อย่างสุนัขสายพันธุ์อื่นๆในกลุ่มเดียวกัน (Group 5) เช่น Siberian husky, Akita, Alaskan malamute, Samoyd, Pomeranian เป็นต้น ดังนั้นระดับความเข้มงวดในเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ของสุนัขแต่ละสายพันธุ์จึงแตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกรรมการตัดสินบางท่านไม่เปิดฟันสุนัขเอง บางท่านถึงกับไม่สัมผัสร่างกายสุนัขไทยหลังอานในสนามประกวดเสียด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถใช้ประสบการณ์ของตนเองตัดสินเลือกสุนัขตัวที่สวยที่สุดออกมาได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตามสุนัขประกวดก็ไม่ควรแสดงพฤติกรรมดั้งเดิมออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนมากจนเกินไป ต้องสามารถเข้าสู่สังคมได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสุนัขที่ขี้เล่น ขี้ประจบ หรือเป็นมิตรมากจนเกินไป ควรมีจิตประสาทที่มั่นคง กล้าหาญ แต่ไม่ก้าวร้าวหรือขี้กลัวมากจนเกินไป มิฉะนั้นก็อาจจะไปไม่ถึงดวงดาวสูงสุด

|
Wip Tkk เทคนิคการทดสอบพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกสุนัขไทยหลังอานมีหลายวิธี จะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายๆวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม มาดูวิธีที่จะแนะนำกัน ดังต่อไปนี้ ...(ลูกสุนัขควรมีอายุ 45 วันขึ้นไป)
1. ขณะลูกสุนัขทั้งครอกเล่นกันตามปกติ ลูกสุนัขตัวที่ชอบขึ้นขี่ตัวอื่น แม้ว่าจะถูกตัวอื่นขี่บ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่ามีจิตใจกล้าหาญ (ผ่าน)
...ลูกสุนัขตัวที่มีแต่ถูกตัวอื่นกดขี่ตลอดเวลาเพียงฝ่ายเดียว บางครั้งก็วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ถือว่าจิตใจไม่กล้าหาญพอ ภาษาเซียนเรียกว่า “ไม่สู้หมา” ลงสนามมีโอกาสหางตก... (ไม่ผ่าน)
Wip Tkk 2. ปล่อยให้ลูกสุนัขทั้งครอกวิ่งเล่นกันตามปกติ ลองตบมือเรียกลูกสุนัขดูการตอบสนองของลูกสุนัข ลูกสุนัขที่หันมามอง แลบลิ้นเล็กน้อยแล้วกระดิกหางวิ่งมาหา พอจะอนุมานได้ว่าลูกสุนัขหูไม่หนวก และมีจิตใจกล้าหาญ (ผ่าน)
...แต่ถ้าตบมือหลายครั้งแล้วลูกสุนัขตัวไหนไม่หันมามองเลย ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการได้ยิน หรือถ้าแสดงอาการตกใจหางจุกก้น หรือวิ่งหนี แสดงว่าขี้ขลาด (ไม่ผ่าน)
Wip Tkk 3. ปล่อยให้ลูกสุนัขเดินตามหลังเราไปเรื่อยๆ จากนั้นให้เราหันกลับมาอย่างรวดเร็ว ลูกสุนัขควรหยุดมองแล้วกระดิกหาง จากนั้นก็เดินมาหาเราด้วยแววตาที่ร่าเริง เป็นมิตร ลูกสุนัข ตัวนี้รู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ และจิตใจกล้าหาญ มีแววสดใสในสนามประกวด expression ดี.. (ผ่าน)
... แต่ถ้าลูกสุนัขมีอาการตื่นตกใจ วิ่งหนี (ไม่ผ่าน)
 |
Wip Tkk 4. ใส่สายจูงยาวๆร่วมกับปลอกคอเล็กๆที่ไม่รัดคอลูกสุนัข หรือจะเป็นสายรัดอกก็ได้ พาลูกสุนัขออกไปเดินเล่นนอกสถานที่ จะจูงไปพร้อมกันหลายๆตัวก็ได้ หลังจากปล่อยให้ลูกสุนัขเล่นกับสายจูงจนคุ้นเคยสักพักแล้ว ให้สังเกตอาการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆภายนอก ลูกสุนัขที่แสดงอาการสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว และอยากจะเดินหรือวิ่งเข้าไปเล่นด้วย (ผ่าน)
... แต่ถ้าลูกสุนัขไม่ยอมเดินเลย เอาแต่ทำตัวสั่น หางจุกก้น หรือพยายามขัดขืน เอาแต่จะวิ่งหนีกลับเข้าบ้านของตัวเอง หรือลูกสุนัขทำขนพองทั้งตัวพยายามที่จะขู่หรือกระโจนเข้ากัดคนแปลกหน้าหรือสุนัขข้างถนน (ไม่ผ่าน)
5. ขณะลูกสุนัขเดินเล่นอยู่ที่พื้น ให้เอามือลูบหัวลูกสุนัข ลูกสุนัขควรกระดิกหาง และเงยหน้าขึ้นแล้วเอาลิ้นเลียมือของเรา และยอมให้เปิดดูฟันแต่โดยดี.. (ผ่าน)
... แต่ถ้าลูกสุนัขทำตัวสั่นหางจุกก้น พยายามเบี่ยงหัวหลบไปมา ไม่ยอมให้ลูบหัว หรือทำตัวเกร็ง มีเสียงขู่ในลำคอและพยายามที่จะงับนิ้วมือของเรา ไม่ยอมให้เปิดดูฟัน.. (ไม่ผ่าน)
 |
Wip Tkk ** เรื่องของพฤติกรรมและอารมณ์ของสุนัขที่จะนำมาประกวดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสุนัขไทยหลังอานนั้น เมื่อโตขึ้นยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้อีกหากเลี้ยงดูผิดวิธี คำแนะนำคือ ควรศึกษาพฤติกรรมและอารมณ์ของพ่อแม่พันธุ์ประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะพฤติกรรมและอารมณ์สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เป็นพฤติกรรมภายใน นอกจากนี้ลูกสุนัขยังสามารถมีพฤติกรรมจากภายนอกได้อีก เช่น จากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม การพาเข้าสังคม เป็นต้น
กรณีที่พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ดุมาก โอกาสลูกสุนัขจะดุและก้าวร้าวมีมาก แต่ถ้าพ่อพันธุ์ดุแต่แม่พันธุ์ใจดี ลูกสุนัขยังมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดอารมณ์ที่ดีจากแม่ เพราะแม่จะเป็นผู้เลี้ยงดู และคอยสั่งคอยสอนทั้งเรื่องการกินอยู่หลับนอนตลอดจนเรื่องความเชื่อมั่นต่อสิ่งแปลกใหม่ทั้งคนและสัตว์ **
 |
Wip Tkk ** บทสรุปสำหรับมือใหม่หัดประกวด **
1. ให้ศึกษาข้อกำหนดต่างๆในมาตรฐานพันธุ์อย่างละเอียด และจงยึดมั่นเป็นหลัก แล้วจะไม่หลงทางเสียทั้งเวลา เงินทอง และความรู้สึก เพราะสุนัขจะอยู่กับเราไปอีกนับสิบปี
2. สุนัขที่จะชนะการประกวดไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน 100 % ตามมาตรฐานพันธุ์ หรือตามที่กล่าวไว้ในบทความนี้ ขอเพียงให้มีส่วนดีมากที่สุด และไม่มีข้อบกพร่องร้ายแรง ก็มีโอกาสไปถึงดวงดาวได้แล้ว การคัดเลือกลูกสุนัขเพื่อการประกวด ให้เน้นหนักไปที่ 3 หัวข้อดังนี้
2.1 โครงสร้าง (บทความ ตอนที่ 5)
2.2 การเคลื่อนไหว (บทความ ตอนที่ 6)
2.3 พฤติกรรรมและอารมณ์ (บทความ ตอนที่ 7)
** ส่วนบทความตอนอื่นๆความสำคัญเป็นรอง หากได้ส่วนดีมาด้วยก็จะยิ่งประเสริฐ **
3. ลูกสุนัขไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดแชมป์ก็มีฟอร์มประกวดได้ ส่วนลูกสุนัขที่มีสายเลือดแชมป์มากมายกี่ชั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีฟอร์มประกวดทุกตัว จึงควรคัดเลือกก่อนตัดสินใจทุกครั้ง (ดูหมายเหตุ)
4. เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการจูงสุนัขประกวดอย่างถูกวิธีจากมืออาชีพในสนามประกวด (กรณีต้องการจูงประกวดเอง)
5. เรียนรู้เรื่องขั้นตอนการประกวด และปฏิบัติตามกฎติกามารยาทว่าด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดสุนัขอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย....ชื่นชมผู้ชนะ และให้กำลังใจผู้แพ้...แล้วความสุขก็จะตามมา
จบเรื่อง “การคัดเลือกลูกสุนัขไทยหลังอานเพื่อการประกวด” แล้ว ขอให้มือใหม่หัดประกวดสุนัขไทยหลังอานทุกท่านประสบความสำเร็จและมีความสุขจากการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดสุนัขโดยทั่วกัน
...ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ติดตามครับ...
 |
Wip Tkk ** หมายเหตุ เมื่อท่านอ่านบทความนี้อย่างละเอียดจนจบก็จะเห็นได้ว่า ลูกสุนัขที่จะมีฟอร์มประกวดนั้น ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างตามเกณฑ์ที่อธิบายมา ลูกสุนัขยิ่งมีคุณสมบัติที่ดีมากเท่าไรก็จะยิ่งหวังผลได้มากเท่านั้นและมีเส้นทางการประกวดได้ยาวไกลจนถึงดวงดาว
ดังนั้นลูกสุนัขฟอร์มประกวดจริงๆจึงมีราคาค่อนข้างสูงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกสุนัขที่มีสายเลือดของพ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์จากสนามประกวดมาแล้ว ยิ่งถ้าเป็นตัวที่มีผลงานการให้ลูกฟอร์มประกวดมาแล้วมากมายก็ยิ่งเป็นที่เชื่อถือได้มาก เรียกว่าคุณภาพคุ้มราคา
อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ลูกสุนัขฟอร์มประกวดราคาย่อมเยาที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์สวยๆที่ไม่ได้ส่งเข้าประกวด ซึ่งแน่นอนย่อมจะมีน้อยกว่ากลุ่มแรก และต้องใช้ความพยายามและใช้เวลาในการเฟ้นหาหน่อยนะครับ ทางเลือกจึงขึ้นอยู่กับงบประมาณและการตั้งเป้าหมายในการประกวดสุนัขของแต่ละท่าน
.. สู้ ๆ นะครับ ขอเป็นกำลังใจให้นักนิยมการประกวดและนักพัฒนาพันธุ์สุนัขไทยหลังอานทุกๆท่าน มา ณ ที่นี้ด้วยครับ